Molly Burke เป็นนักพูดสร้างแรงบันดาลใจ ครีเอเตอร์แนวไลฟ์สไตล์ และผู้สนับสนุนคนพิการที่ประสบความสำเร็จ ผู้อยู่เบื้องหลังคอมมูนิตี้ที่กำลังเติบโตโดยการแชร์วิดีโอบน Facebook
จนทำให้มียอดการรับชมสูงสุด 15 ล้านครั้ง* ในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา และในโอกาสนี้ Molly จะมาแชร์กลเม็ดเคล็ดลับส่วนตัวให้เราได้รู้กัน
บทสัมภาษณ์นี้มีการย่อความและแก้ไขเพื่อให้อ่านง่ายขึ้น
ฉันเริ่มสร้างเพจเมื่อปี 2012 ซึ่งตอนนั้นฉันกำลังเดินสายออกงานในฐานะนักพูดสร้างแรงบันดาลใจค่ะ ก่อนหน้านี้ฉันไม่เคยตั้งใจจะมาเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์เลย ฉันแค่อยากหาวิธีเข้าถึงผู้คนเฉยๆ แต่พอช่วงปี 2014 ฉันก็ตัดสินใจทำคอนเทนต์อื่นๆ นอกเหนือจากเรื่องการพูดในที่สาธารณะค่ะ ตอนแรกฉันอยากโฟกัสทีละแพลตฟอร์ม แต่แล้วฉันก็เริ่มโพสต์คอนเทนต์บน Instagram ไปยัง Facebook แล้วก็ค่อยๆ สร้างเพจขึ้นมาค่ะ
ฉันเริ่มพัฒนากลยุทธ์ของแต่ละแพลตฟอร์ม ซึ่งรวมถึง Facebook ด้วยในช่วงที่โควิดระบาดราวหนึ่งปีครึ่งถึงสองปีที่ผ่านมานี้ ฉันคิดว่าการระบาดใหญ่ทั่วโลกได้เปลี่ยนระบบการสร้างคอนเทนต์ไปหมดเลย ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสร้างสรรค์และเหตุผลในการแชร์คอนเทนต์
เป้าหมายในการสร้างคอนเทนต์ของฉันคือการลดช่องว่างระหว่างคนทั่วไปกับคนพิการค่ะ ในฐานะคนพิการ ฉันยังคงต้องเผชิญกับความไม่รู้มากมายจากการที่สังคมเรายังขาดความรู้ การตระหนักรู้ และการให้ข้อมูลในเรื่องนี้อยู่ เราโตมาโดยที่ไม่มีใครสอนเรื่องความพิการเลย คนรุ่นฉันมักจะถูกสอนมาว่า "ห้ามมอง ห้ามจ้อง ห้ามถาม" ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่แย่ที่สุดเวลาคุณสอนคนรุ่นใหม่เลยล่ะค่ะ เพราะมันจะปลูกฝังค่านิยมให้คนรุ่นนั้นหลีกเลี่ยงประเด็นความพิการและอาจทำให้รู้สึกกลัวไปเลย แต่ถึงอย่างนั้น คอมมูนิตี้สำหรับคนพิการก็เป็นคอมมูนิตี้สำหรับคนกลุ่มน้อยเพียงแห่งเดียวที่ทุกคนไม่ว่าจะพิการจากโรคหรือการบาดเจ็บต่างๆ สามารถเข้าร่วมได้ตลอดเวลา ดังนั้น การลดช่องว่างระหว่างผู้คนและลบล้างความกลัวนั้นจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งวิธีจัดการที่ดีที่สุดก็คือการเป็นตัวเอง และแสดงให้คนอื่นเห็นว่าคนพิการก็เป็นคนปกติทั่วไป
สื่อต่างๆ มักจะนำเสนอภาพคนพิการให้ดูน่าสงสารหรือไม่ก็จะต้องปฏิบัติต่อคนกลุ่มนี้เป็นพิเศษ ฉันต้องการแสดงให้เห็นว่าฉันก็เป็นคนทั่วไป ฉันสามารถเป็นพี่น้อง เป็นเพื่อน หรือเป็นเพื่อนร่วมงานได้ ฉันชอบเล่นโยคะ เป็นทาสแมว ชอบกินซูชิ รวมถึงเรื่องแฟชั่น ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดในการแสดงความเป็นตัวเองก็คือการนำเสนอคอนเทนต์ในมุมมองของบุคคลที่หนึ่ง เพราะเมื่อผู้คนได้รู้จักฉันในฐานะคนคนหนึ่ง พวกเขาก็จะอยากทำความเข้าใจเรื่องความพิการ อุปสรรค และความไม่เป็นธรรมที่เราในฐานะกลุ่มคนพิการต้องเผชิญค่ะ
"สิ่งสำคัญเมื่อคุณต้องการสร้างคอมมูนิตี้เลยก็คือ การพูดคุยโต้ตอบกับคนในคอมมูนิตี้ ที่ฉันสามารถเลี้ยงชีพด้วยการสร้างคอนเทนต์ได้ก็เพราะฉันสร้างคอมมูนิตี้ที่ผู้คนมีส่วนร่วมกับฉันและรู้ว่าฉันจะตอบกลับ ฉันพยายามทำความรู้จักกับพวกเขาด้วยการถามคำถามในวิดีโอ ในช่องแสดงความคิดเห็น รวมถึงตอบกลับความคิดเห็นหรือข้อความส่วนตัวอย่างจริงใจ"
– Molly Burke, นักพูดสร้างแรงบันดาลใจและคอนเทนต์ครีเอเตอร์
ช่วงล็อกดาวน์เป็นช่วงเวลาที่สร้างคอนเทนต์ได้ยากมากค่ะ ฉันหมดไฟที่จะสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ เพราะเวลาที่ฉันได้ออกไปใช้ชีวิต ไอเดียในการสร้างคอนเทนต์ก็จะออกมาเองโดยธรรมชาติ แต่พอต้องอยู่แต่บ้าน มันก็ไม่ค่อยมีอะไรให้แชร์สักเท่าไหร่ แต่แล้วฉันก็นึกได้ว่าการรักษาความสม่ำเสมอในการสร้างคอนเทนต์และสานสัมพันธ์กับผู้คนเป็นสิ่งสำคัญ เพราะฉันถือเป็นที่พึ่งพิงสำหรับใครหลายๆ คน
แน่นอนว่าฉันพยายามใช้เครื่องมือทั้งหมดที่ Facebook มีให้ และถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้ฉันจะใช้เครื่องมือบางส่วน แต่ก็ไม่ได้ใช้งานเต็มประสิทธิภาพเท่าไหร่นัก ปัจจุบันฉันได้โพสต์คอนเทนต์บน Instagram ข้ามไปยังแพลตฟอร์มต่างๆ และใช้งาน Facebook Stories, Reels, Soundbites และ Facebook Live รวมถึงโพสต์คอนเทนต์วิดีโอแบบเนทีฟมากขึ้นด้วยค่ะ
ฉันพยายามใช้เครื่องมือต่างๆ บน Instagram อย่าง Instagram Video, Reels, ฟีด, สตอรี่ และการถ่ายทอดสดให้มากที่สุดด้วยเช่นเดียวกัน โดยพยายามใช้งานเครื่องมือแต่ละชิ้นอย่างสม่ำเสมอและสร้างคอนเทนต์ที่มีความหมายและเป้าหมายมากกว่าแค่ความสวยงาม ฉันต้องการเพิ่มคุณค่าให้กับทุกๆ โพสต์ที่ตัวเองสร้าง เพื่อให้ผู้ติดตามที่เห็นโพสต์นั้นบนฟีดรู้สึกอยากมีส่วนร่วม
ส่วนตัวแล้วฉันไม่ได้ให้ความสำคัญกับตัวเลขเลย ไม่ได้ดูว่าตัวเองมีผู้ติดตามเท่าไหร่แล้ว เพราะคุณอาจเอาคุณค่าของตัวเองไปผูกกับตัวเลขเหล่านั้นได้ง่ายๆ ซึ่งในฐานะคนที่พยายามต่อสู้กับปัญหาด้านสุขภาพจิต ฉันจึงเลือกที่จะไม่ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นค่ะ นอกจากนั้นแล้ว ฉันยังกังวลว่าการที่เราไปวิตกเรื่องยอดการรับชมจะทำให้กลยุทธ์คอนเทนต์ของตัวเองเปลี่ยนไป ซึ่งอาจเปลี่ยนรูปแบบคอนเทนต์ที่ฉันสร้าง จากคอนเทนต์ที่ฉันรู้สึกตื่นเต้นที่จะได้ทำมันอาจกลายเป็นคอนเทนต์ที่ผู้คนต้องการรับชมแทน
ฉันตั้งใจจะสร้างพื้นที่ที่มีแต่พลังบวกมาตลอดและต้องขอบคุณตัวเองมากๆ ที่สามารถทำได้ ฉันเชื่อว่าคนเราทำสิ่งใด เราก็จะดึงดูดสิ่งนั้นค่ะ ฉันมอบความรัก ความซื่อสัตย์ ความจริงใจ พื้นที่ปลอดภัยสำหรับทุกคนไม่ว่าเขาจะเป็นคนพิการหรือไม่ก็ตาม ฉันพยายามสร้างพื้นที่ที่ให้ผู้คนได้รู้สึกว่าร่างกาย วิธีการแสดงออกถึงความเป็นตัวเอง รวมถึงอัตลักษณ์ของพวกเขาได้รับการยอมรับ พื้นที่ที่ผู้คนต่างยอมรับซึ่งกันและกันรวมถึงฉันเองด้วย
สิ่งสำคัญเมื่อคุณต้องการสร้างคอมมูนิตี้เลยก็คือ การพูดคุยโต้ตอบกับคนในคอมมูนิตี้ ที่ฉันสามารถเลี้ยงชีพด้วยการสร้างคอนเทนต์ได้ก็เพราะฉันสร้างคอมมูนิตี้ที่ผู้คนมีส่วนร่วมกับฉันและรู้ว่าฉันจะตอบกลับ ฉันพยายามทำความรู้จักกับพวกเขาด้วยการถามคำถามในวิดีโอ ในช่องแสดงความคิดเห็น รวมถึงตอบกลับความคิดเห็นหรือข้อความส่วนตัวอย่างจริงใจ
สำหรับฉันแล้ว การสร้างคอนเทนต์สั้นๆ นั้นไม่ง่ายเลยค่ะ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะฉันชอบใช้คำฟุ่มเฟือย และฉันก็อยากให้ความรู้ด้วย ดังนั้น การเล่าเรื่องราวให้เหมาะสมในเวลา 3 นาทีให้ได้ในระดับที่ฉันรู้สึกพอใจนั้นเป็นอะไรที่ยากเอาการเหมือนกัน และฉันยังพบว่าผู้คนจะรับชมวิดีโอที่ยาวขึ้น อย่างวิดีโอที่มีความยาวประมาณ 5-10 นาทีอีกด้วยค่ะ
ฉันให้ความสำคัญกับคำบรรยายมากๆ เลยค่ะ ฉันอยากให้วิดีโอทั้งหมดของฉันในทุกแพลตฟอร์มมีคำบรรยาย ตัวช่วยการเข้าถึงมีความสำคัญกับฉันมาก ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์สำหรับฉันเพียงคนเดียว แต่ยังเป็นประโยชน์กับทุกๆ คนในคอมมูนิตี้นี้อย่างคนหูหนวกและคนที่มีปัญหาในการได้ยินด้วย อีกทั้งคำบรรยายยังเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่เรียนภาษาอังกฤษเป็นภาษาที่สอง (ESL) อีกด้วยค่ะ เพราะคำบรรยายจะช่วยให้พวกเขาสามารถมีส่วนร่วมกับคอนเทนต์ของฉันด้วยการฟังและอ่านคำบรรยายไปพร้อมๆ กันได้
ฉันชอบ Soundbites มากค่ะ ฉันเป็นคนที่ต้องใช้การฟังเสียงเป็นหลักอยู่แล้ว เพราะมันคือวิธีที่ฉันรับรู้สิ่งต่างๆ รอบตัว รวมไปถึงบริโภคคอนเทนต์ต่างๆ ในทุกแพลตฟอร์ม ดังนั้น ไอเดียในการสร้างคอนเทนต์เสียงโดยเฉพาะแบบสั้นๆ จึงเป็นอะไรที่สนุกดีค่ะ!
มีส่วนร่วมกับผู้ชมของคุณ ไม่ต้องกลัวว่าคอมมูนิตี้ของคุณจะดูเฉพาะกลุ่ม เพราะเดี๋ยวนี้คนจำนวนมากมักพยายามทำตัวให้อยู่ในกระแสหลักจนทำให้มีคนในคอมมูนิตี้เยอะเกินไป จงเป็นตัวของตัวเองและสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ที่ทำให้คุณรู้สึกตื่นเต้นไปกับมันค่ะ
ลองปล่อยวางให้คนอื่นได้รับผิดชอบงานบางส่วนบ้าง งานไหนที่ฉันจ้างให้คนอื่นทำแทนได้ ฉันก็จะจ้าง เพราะฉันทำหน้าที่เป็นครีเอทีฟ ต้องสร้างสรรค์คอนเทนต์ในทุกแพลตฟอร์มเป็นประจำทุกวัน และพยายามทำให้แต่ละแพลตฟอร์มมีคอนเทนต์ที่เป็นเอกลักษณ์ ทำให้ต้องทำหลายอย่างมากๆ ฉันต้องใช้ทั้งสมอง พลังงาน และสมาธิในการสร้างสรรค์ผลงาน ดังนั้น งานต่างๆ ตั้งแต่การตัดต่อวิดีโอไปจนถึงการแก้ไขภาพขนาดย่อของวิดีโอ ฉันจะจ้างให้คนอื่นทำแทน จากนั้นฉันก็จะใช้ความคิดเพื่อวางคอนเซปต์ คิดเกี่ยวกับการถ่ายทำ การถ่ายภาพ การสตรีมสด การเขียนคำบรรยาย และการตอบกลับความคิดเห็นค่ะ
แต่ฉันก็มักจะเห็นครีเอเตอร์ที่ยังไม่กล้าแบ่งงานให้คนอื่นทำอยู่เหมือนกัน ซึ่งนั่นทำพวกเขารู้สึกหมดไฟ สิ่งที่ฉันอยากจะบอกก็คือ คุณไม่จำเป็นต้องทำทุกอย่างเองทั้งหมด การที่คุณหาคนที่เก่งในด้านนั้นๆ แล้วร่วมสร้างสรรค์งานกับพวกเขาจะทำให้คอนเทนต์ของคุณได้รับประโยชน์จากส่วนนี้ เพราะคุณจะได้งานที่มีคุณภาพดีกว่าที่คุณทำเอง
แม้ว่าการหาสมาชิกทีมคนใหม่มาช่วยงานจะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็อย่าเพิ่งท้อใจไปค่ะ คุณอาจต้องให้คนคนนั้นตัดต่องานสัก 5 ชิ้นก่อนจึงจะได้งานในรูปแบบที่ต้องการ ทั้งนี้ทั้งนั้นอย่าลืมว่า พวกเขาไม่ได้เข้าใจทุกสิ่งที่คุณคิดอยู่ในหัว
*อ้างอิงจากข้อมูล CrowdTangle ที่เผยแพร่ต่อสาธารณะตั้งแต่วันที่ 01/11/20 - 08/11/21
ใช้เครื่องมือทั้งหมดของ Facebook ซึ่งรวมถึงสตอรี่, Reels และ Soundbites เช่นเดียวกันกับ Instagram (วิดีโอ, ฟีด, Reels และสตอรี่)
พูดคุยกับคอมมูนิตี้ของคุณ รวมถึงตอบกลับความคิดเห็นและข้อความส่วนตัว
สื่อสารออกมาตามที่คุณต้องการ เพราะผู้คนมักจะรับชมวิดีโอที่มีความยาว 5-10 นาที
คำบรรยายสำคัญมาก คอนเทนต์ที่มีตัวช่วยการเข้าถึงเป็นสิ่งสำคัญ!
อย่ากลัวที่จะเลือกหัวข้อที่มีคนสนใจเฉพาะกลุ่ม จงเป็นตัวของตัวเองเข้าไว้